รีวิว, แนะนำก่อนซื้อ

บทเดียวจบ! รวมความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับไม้กันสั่น จากแบรนด์ DJI

อุปกรณ์สำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ของผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ รวมถึงเหล่าบรรดาช่างภาพระดับมืออาชีพ นั่นก็คือ Gimbal Stabilizers หรืออุปกรณ์กันสั่น ที่ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนและกล้อง DSLR หรือ Mirrorless เพื่อช่วยให้การถ่ายวิดีโอเป็นไปอย่างราบรื่น ภาพไม่สั่นไหวแม้ในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ สำหรับวันนี้ DJI13Store จะมาแนะนำ ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับไม้กันสั่นแบบเจาะลึก ว่ามีหลักการทำงานอย่างไร ผู้ใช้งานจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการใช้งาน Gimbal Stabilizers

 

Gimbal หรือไม้กันสั่นคืออะไร และเราใช้มันทำไม?

Gimbal Stabilizers ประกอบด้วยชุดมอเตอร์ 3 ตัวที่ควบคุม 3 แกนหมุนอย่างอิสระหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไม้กันสั่น” ซึ่งมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน ตั้งแต่อุปกรณ์กันสั่นที่ใช้ถือถ่ายภาพในขณะที่กำลังเดินหรือวิ่ง ไปจนถึงอุปกรณ์กันสั่นกล้องที่ถูกติดตั้งมากับโดรน โดยอุปกรณ์กันสั่นนี้นับเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากสำหรับวงการถ่ายภาพ เนื่องจากมันจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมคุณภาพของงานและถ่ายภาพออกมาได้สวยงาม ลื่นไหล และยังช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมกล้องพร้อมเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระโดยไม่จำเป็นต้องตั้งค่าอะไรให้ซับซ้อน แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดูเป็นมืออาชีพระดับฮอลลีวูดเลยก็ว่าได้ วิดีโอที่กำลังเคลื่อนไหวอาจดูน่าสนใจและดึงดูดสายตามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการถ่ายทำฉากที่อยู่นิ่ง ทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในขณะที่ชมวิดีโอ ทั้งนี้หากมีการตั้งค่าและใช้งานอย่างถูกต้อง อุปกรณ์กันสั่นนี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีค่ามากที่สุดในการถ่ายภาพของคุณ

 

Gimbal หรือไม้กันสั่นมีการทำงานอย่างไร

ดูคร่าวๆ ไม้กันสั่นนี้อาจดูเหมือนว่ามีการใช้เวทมนตร์เพื่อสร้างงานวิดีโอที่ลื่นไหล ราบรื่น ไม่สั่นไหว สามารถถ่ายทำในขณะที่ผู้ใช้งานกำลังวิ่งขึ้นบันไดหรือกระโดดข้ามกำแพงได้อย่างราบรื่นจนน่าเหลือเชื่อ การถ่ายภาพเหล่านี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของมอเตอร์ขนาดเล็ก ซึ่งมอเตอร์แต่ละตัวจะทำงานโดยการควบคุมการเคลื่อนไหวตำแหน่งกล้องในแต่ละแกน Gimbal (กิมบอล) แต่ละประเภทจะมีแกนควบคุมการเคลื่อนไหวแยกตามทิศทางของตำแหน่งกล้อง คือ แกน Roll, แกน Pitch และแกน Yaw วิธีการดีที่สุดในการจำแนกการเคลื่อนไหวของแกนแต่ละแกนคือดูจากทิศทางที่กล้องสามารถเคลื่อนไหวได้ ยกตัวอย่างเช่นการเคลื่อนไหวของกล้องจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งเรียกว่า แกน Yaw การเคลื่อนไหวกล้องขึ้นและลงเรียกว่า แกน Tilt หรือ Pitch สุดท้ายการหมุนกล้องเรียกว่าแกน Roll

 

 

การเคลื่อนไหวของแต่ละแกน :

– การเคลื่อนไหวของแกน Pitch คือการหันกล้องในทิศทางขึ้นลงระหว่างพื้นดินสู่ท้องฟ้า

– การเคลื่อนไหวของแกน Yaw คือหันกล้องไปด้านข้างในทิศทางจากซ้ายไปขวา

– การเคลื่อนไหวของแกน Roll คือเอียงหมุนกล้องเพื่อให้ภาพหมุนวน

 

มอเตอร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ดันกล้องไปในทิศทางที่กล้องต้องการเคลื่อนที่ และลดการสั่นไหวเมื่อกล้องมีการขยับตำแหน่ง ลองนึกภาพตามว่าถ้ากล้องของคุณอยู่บนยางพลาสติกหรือสปริง เมื่อคุณปล่อยกล้องลง แทนที่กล้องจะตกลงและกระแทกกับพื้น ยางพลาสติกนั้นจะช่วยชะลอการเคลื่อนไหวให้ช้าลงจนกว่าจะหยุด มอเตอร์ที่ควบคุมแต่ละแกนก็ทำงานแบบนี้เช่นกัน แตกต่างกันแค่เพียงมีระบบที่สามารถควบคุมได้มากกว่า เมื่อมอเตอร์ทุกตัวถูกเชื่อมต่อกับซอฟต์แวร์ คุณจะสามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของกล้องได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเคลื่อนที่มากน้อยเพียงใด คุณจะเห็นว่า Gimbal ไม่ได้มีการทำงานที่ซับซ้อนอย่างที่คิด มันเป็นเพียงการทำงานร่วมกันของมอเตอร์ขนาดเล็ก เพื่อช่วยให้กล้องของคุณหันไปยังทิศทางที่คุณต้องการถ่ายภาพนั้นเอง

 

ประเภทของ Gimbal และการออกแบบ

 

 

คุณอาจจะเคยเห็นอุปกรณ์กันสั่นประเภทต่างๆหลายรูปแบบ มีตั้งแต่ Gimbal ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้สองมือจับอย่าง DJI Ronin-M, Ronin-MX และ Ronin 2 ไปจนถึงอุปกรณ์กันสั่นแบบที่ใช้งานเพียงมือเดียวอย่าง DJI Ronin-S แต่ไม่ว่าจะเป็น Gimbal ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กกะทัดรัดที่สุดอย่าง DJI Osmo Pocket ทั้งสองประเภทนี้ต่างมีกลไกการทำงานในรูปแบบเดียวกัน ใช้มอเตอร์เป็นกำลังหลักในการควบคุมการทำงานเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามมันถูกสร้างและออกแบบมาเพื่อรูปแบบการใช้งานและรองรับน้ำหนักกล้องที่แตกต่างกัน เมื่อทราบแบบนี้แล้ว คุณสามารถเลือกใช้งานอุปกรณ์กันสั่นที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด อย่าลืมให้ความสำคัญกับจำนวนแกนกันสั่นของ Gimbal ที่คุณเลือกใช้งาน เพราะมันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการถ่ายภาพของคุณ

 

ตัวอย่างเช่น กิมบอลขนาดเล็กบางตัว มีแกนกันสั่นเพียง 1 แกนเท่านั้น ซึ่งเพียงพอสำหรับการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้องในทิศทางเดียว คือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและกลับด้านหลัง กิมบอลทั่วไปจะมีจำนวนแกนกันสั่นอยู่ที่ 3 แกน ซึ่งจะครอบคลุมการเคลื่อนไหวของกล้องได้ทั้ง แกน Roll, แกน Pitch และแกน Yaw อย่างที่อธิบายไปในตอนต้น ทั้งนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกล้องของคุณ กล้องที่มีขนาดเล็กอาจเหมาะกับ กิมบอลที่มีขนาดเล็กหน่อย แต่หากคุณใช้กล้องที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ขนาดเลนส์ใหญ่ กิมบอลขนาดใหญ่อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ มี Gimbal หลายประเภทที่มีช่วงน้ำหนักของกล้องที่รองรับการทำงานร่วมกันได้ หมายความว่าน้ำหนักรวมของตัวกล้องและเลนส์ของคุณจะต้องไม่หนักกว่า น้ำหนักที่ Gimbal ระบุเอาไว้ เพื่อให้มันสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีอุปกรณ์กันสั่นมากมายที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทุกคน เพียงแค่เลือกอันที่ดีที่สุดสำหรับคุณก็พอ!

 

การตั้งค่าและปรับความสมดุลของ Gimbal

 

ก่อนใช้งาน Gimbal ทุกครั้งสิ่งสำคัญคือการตั้งค่าและปรับความสมดุลให้เรียบร้อยเสียก่อนเพื่อให้กล้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด สิ่งนี้จะช่วยให้มอเตอร์ทำงานน้อยลงและทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากกิมบอลต้องคอยต้านกับน้ำหนักของกล้องที่ไม่สมดุล มันอาจจะไม่สามารถช่วยกันสั่นหรือควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

การปรับความสมดุลของ Gimbal นั้นค่อนข้างง่ายและไม่ซับซ้อน คือกล้องจะต้องตั้งอยู่ตรงกลางและไม่เอียงหรือหงายไปทางใดทางหนึ่ง เสมือนว่าคุณกำลังพยายามสร้างความสมดุลระหว่างดินสอกับนิ้วมือของคุณ ถ้าดินสออยู่ตรงกลางพอดี คุณก็จะสามารถขยับมือได้โดยไม่ทำให้ดินสอร่วงลงกับพื้น การปรับสมดุลของกิมบอลก็คล้ายกัน คุณต้องการให้มอเตอร์ช่วยแก้ไขการสั่นไหวที่อาจเกิดขึ้นในขณะบันทึกภาพ แทนที่จะต้องมาคอยสู้กับน้ำหนักของตัวกล้อง เพื่อความสมดุลของ Gimbal สำหรับการตั้งค่ากล้องของคุณ ให้วางกิมบอลไว้บนขาตั้งในขณะที่ปรับเลื่อนกล้องไปมาจนกล้องหยุดนิ่งและไม่มีทีท่าว่าจะเอียงร่วงลงมา คุณควรจะปล่อยมือจากกล้องได้โดยที่กิมบอลนั้นก็ไม่เอียงไปมา ทำซ้ำขั้นตอนการปรับสมดุลในแต่ละแกนโดยเลื่อน Plate ปรับตำแหน่งกล้องจนกระทั่งกล้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

 

ภาพด้านบน : Gimbal Plate มีความสมดุลเมื่อใช้งานเลนส์ขนาดมาตรฐาน 18-105mm (ภาพซ้าย) เมื่อเพิ่มเลนส์ Fisheye ขนาด 12mm เข้าไป (ภาพขวา) Gimbal Plate จะต้องเลื่อนไปด้านหลัง ขยับน้ำหนักของตัวกล้อง เพื่อชดเชยน้ำหนักเมื่อใช้งานเลนส์ Fisheye

 

เคล็ดลับ : โปรดจำไว้ว่า ต้องทำการปรับความสมดุลของกล้องทุกครั้งที่เปลี่ยนเลนส์เพราะน้ำหนักของเลนส์ที่แตกต่างกันอาจทำให้ Gimbal เสียสมดุลได้

 

Gimbal ไม้กันสั่นขนาดเล็กที่ดีที่สุด

 

DJI Osmo Pocket

ไม้กันสั่นขนาดเล็กบางรุ่นอย่าง DJI Osmo Pocket เป็นกิมบอลที่ถูกออกแบบมาให้มีกล้องในตัวไม่จำเป็นต้องมีการปรับสมดุล อุปกรณ์นี้จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการตั้งค่าที่รวดเร็วและขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถหยิบออกจากกระเป๋าพร้อมใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาตั้งค่าใดๆเลยนอกจากการเปิดเครื่องเท่านั้น ในขณะเดียวกันยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนเพื่อใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน DJI Mimo จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากยิ่งขึ้น ( บทความแนะนำ แกะกล่อง! OSMO Pocket สัมผัสแรก เจ๋งจริง อะไรจริง )

 

 

DJI Osmo Mobile 3

Osmo Mobile 3 เป็นไม้กันสั่นรุ่นใหม่ล่าสุดของแบรนด์ DJI เปิดตัวเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ถูกพัฒนาและอัพเกรดจากไม้กันสั่นรุ่นก่อน สามารถใช้งานร่วมสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบ IOS และ Android ตอบสนองความต้องการของบรรดา Vlogger หรือ Youtuber ที่ต้องการความสะดวกสบาย ในการสร้างคอนเทนท์ที่รวดเร็วและมีคุณภาพ ด้วยน้ำหนักเบาเพียง 405 กรัม ทำให้ผู้ใช้งานสามารถถือและสั่งงานได้เพียงแค่มือเดียว ออกแบบดีไซน์ใหม่ให้สามารถพับเก็บได้ง่ายต่อการจัดเก็บและพกพาติดตัวไปได้ทุกทีทุกเวลา มาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ให้ใช้งานมากมายบนแอปพลิเคชัน DJI Mimo จัดว่าเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ที่กำลังมองหาไม้กันสั่นราคาถูก แต่ประสิทธิภาพการทำงานสูง ( อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ แกะกล่อง Osmo Mobile 3 – รวมจุดเด่นเจ๋งๆ ยั่วใจชาว Vlogger )

 

 

Gimbal ไม้กันสั่นสำหรับกล้อง DSLR และ Mirrorless

 

DJI Ronin-S

หากคุณต้องการเพิ่มความคล่องตัวเมื่อมีการเปลี่ยนกล้อง เลนส์ หรือฟิลเตอร์ ไม้กันสั่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่าง Ronin-S และ Ronin 2 อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี การเลือกไม้กันสั่นที่เหมาะสมนั้น คุณควรพิจารณาสิ่งที่คุณต้องการถ่าย ขนาดและน้ำหนักของกล้องกับเลนส์ที่ใช้งาน ก่อนการเลือกซื้อ Gimbal หากคุณต้องเดินทางบ่อยๆแต่ไม่อยากพกพาอุปกรณ์หรือกล้องขนาดใหญ่ Osmo Mobile 2 น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณ อย่างไรก็ตามหากคุณต้องการใช้งานกล้องและเลนส์ที่มีขนาดใหญ่และหนัก ลองพิจารณาไม้กันสั่น DJI Ronin-S ที่สามารถรองรับน้ำหนักของกล้องและเลนส์ได้ ซึ่งหมายความว่าคุณจะสามารถพกพาอุปกรณ์หรือเลือกปรับขนาดของกล้องและเลนส์ได้หลากหลาย จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการบันทึกภาพในระดับมืออาชีพยิ่งขึ้น ( บทความแนะนำ 7 เหตุผลที่ต้องมี DJI Ronin-S ไว้ผลิตงานวีดีโอ )

 

 

การใช้งาน Gimbal ไม้กันสั่น

Gimbal หรือไม้กันสั่นนั้นมีไว้เพื่อช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้องในขณะบันทึกภาพ เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นจากผลงานของคุณ คือผลงานที่มีความลื่นใหล สวยงาม ดึงดูดสายตา และดูเป็นมืออาชีพ เป้าหมายของคุณในฐานะที่เป็นผู้สร้างคอนเทนต์ คือสร้างผลงานที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ชมและเป็นผลงานที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของสถานที่ต่างๆในฉากได้ดี ซึ่ง Gimbal จะช่วยให้คุณสามารถบันทึกภาพพร้อมกับเคลื่อนที่ไปรอบๆตามสถานที่ที่คุณต้องการในเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการจะสื่อผ่านผลงานการถ่ายทำของคุณ นอกจากนี้ Gimbal Stabilizer ยังช่วยให้อิสระในการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสรรค์ผลงานและถ่ายทอดเรื่องราวที่ดีที่สุด

 

อุปกรณ์กันสั่นจัดเป็นเครื่องมือที่มีความสามารถในการเปลี่ยนอุปกรณ์ถ่ายภาพของคุณ ให้การถ่ายภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณสามารถเคลื่อนไหวไปพร้อมกับการบันทึกภาพได้ทันทีซึ่งโดยปกติจะต้องใช้ Dolly เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้อง และยังสามารถถือ Gimbal ที่ระดับความสูงที่แตกต่างกันในขณะถ่ายภาพได้ ซึ่งปกติจะต้องใช้เครนในการทำงานแบบนี้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Gimbal เพื่อรักษาความสมดุลของภาพทดแทนการใช้ขาตั้งกล้องได้อีกด้วย นับว่าเป็นอุปกรณ์กันสั่นที่มีความยืดหยุ่น สะดวกสบาย ใช้งานง่าย มีความคล่องตัวสูงและช่วยให้คุณได้ผลงานที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความน่าสนใจมากขึ้น

 

 

การควบคุม Gimbal ขึ้นสูง

Gimbal ไม่ได้เป็นเพียงแค่ไม้กันสั่นปกติทั่วไป แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เช่นคุณสามารถนำ Gimbal ไปติดไว้กับรถยนค์ ขา Tripod, Cable Cams ได้ และที่สำคัญคุณยังสามารถใช้ตัวควบคุมจากภายนอกหรือจอยสติ๊กที่ด้ามจับในการควบคุมทิศทางของกล้องได้ด้วย นอกจากนี้ Gimbal บางประเภทยังสามารถตั้งค่าการใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ของกล้อง เพื่อถ่ายภาพแบบ Hyperlaspe หรือ Timelaspe ได้เช่นกัน เพราะเหตุนี้ตัวควบคุมจากภายนอกหรือจอยสติ๊กจึงจัดเป็นอุปกรณ์เสริมที่สำคัญสำหรับ Gimbal ของคุณที่ช่วยให้คุณสามารถควบคุมทิศทางของกล้องได้ในขณะคุณกำลังเคลื่อนที่ไปมา ซึ่ง Osmo Pocket และ Ronin-S จะมีตัวควบคุมขนาดเล็กติดตั้งไว้ที่ด้ามจับ ทำให้สามารถควบคุมกล้องได้ตลอดเวลา แน่นอนว่าจะทำให้คุณใช้งานได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : DJI
แปลและเรียบเรียงโดย : DJI13STORE